TALK: NT Satellite Solutions โดย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
คุณสรพงษ์ ศิริพันธุ์
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานดาวเทียมและโครงข่าย
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
NT Satellite Solutions
Q: บริการสื่อสารดาวเทียมของ NT มีอะไรบ้าง
บริการสื่อสารดาวเทียม แบ่งเป็น 3-4 ประเภท โดยอันที่หนึ่งคือ Satellite Broadcasting ให้บริการเชื่อมโยงสัญญาณสดผ่านดาวเทียมสำหรับเหตุการณ์ ข่าวสาร การแข่งขันกีฬาที่สำคัญจากทั่วทุกมุมโลก เช่น การแข่งขันกีฬา Olympic, Sea Games, Asian Games, ฟุตบอลโลก Thai League, การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC เป็นต้น โดยรองรับการให้บริการทั้งภาครับและภาคส่งสัญญาณโทรทัศน์ (Uplink and Downlink) ให้แก่สถานีโทรทัศน์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ในแต่ละอีเวนท์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีบริการรถยนต์ถ่ายทอดสัญญาณสด หรือ DSNG (Digital Satellite News Gathering) เพื่อให้สามารถถ่ายทอดสัญญาณได้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น เข้าถึงทุกพื้นที่ให้บริการ
สองคือการให้บริการแบบ Satellite Broadband ที่ NT ให้บริการในปัจจุบันก็คือ บริการ iPSTAR และบริการ Globesat หรือ VSAT บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม สำหรับผู้ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสาร รับ-ส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานในระดับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่และระยะทาง แม้แต่พื้นที่ที่ระบบโทรคมนาคมพื้นฐานเข้าไปไม่ถึง กลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มแท่นขุ่นเจาะน้ำมัน กลุ่มโรงเรียนหรือโรงพยาบาล ตำรวจตระเวนชายแดนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
บริการด้าน Maritime ให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคม (Voice and Data) และระบบ GPS Tracking ผ่านดาวเทียม Inmarsat โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่อยู่ในน่านน้ำมหาสมุทร เช่น เรือประมง เรือโดยสาร เรือขนส่งสินค้า สาเหตุที่ต้องมีบริการนี้เพราะว่าเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องมีการติดตามเรือในจุดที่แน่นอนได้
Satellite Transponder เป็นการให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมในลักษณะดาวเทียมค้างฟ้า หรือ GEO โดย NT ได้รับสิทธิสัมปทานบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศฯ ได้แก่ ดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 ซึ่งดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมที่ใช้งานในลักษณะ Broadband ที่กำลังใกล้หมดอายุทางวิศวกรรม ส่วนดาวเทียมไทยคม 6 จะเป็นดาวเทียม Broadcast ที่ NT สามารถนำมาให้บริการถ่ายทอดสัญญาณสดให้แก่ผู้รับบริการ นอกจากนี้ยังมีดาวเทียม AsiaSat 5 ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศจาก สำนักงาน กสทช. แบบ Occasional Use เพื่อนำมาใช้ในการให้บริการถ่ายทอดสัญญาณสดเหตุการณ์สำคัญระดับโลก
กลุ่มบริการ Satellite Facilities ทาง NT มีสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ สถานีดาวเทียมนนทบุรี สถานีดาวเทียมศรีราชา และสถานีดาวเทียมสิรินธร ให้บริการเป็น Gateway และ Ground Station พร้อมเจ้าหน้าที่ดูแลทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยในอนาคต NT สามารถให้บริการในลักษณะ Ground Segment as a Services (GSaaS) ได้ สามารถให้บริการดาวเทียมต่างชาติได้ด้วย เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญบุคลากรของเราให้มีความรู้เท่าเทียมกับนานาชาติ นอกจากดาวเทียมแล้ว NT ยังมีการให้บริการผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก เคเบิลใต้น้ำ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายได้ทั่วโลก
อีกบริการหนึ่งที่ NT กำลังโฟกัสก็คือ บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ LEO ซึ่ง ปัจจุบัน NT ได้เป็นพาร์ทเนอร์กับ OneWeb ที่มีดาวเทียมโคจรรอบโลกอยู่หลายร้อยดวง นอกจากบริการในประเทศไทยแล้ว เรายังครอบคลุมไปถึงการเป็น Gateway ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือ CLMV และยังมีพาร์ทเนอร์อีก 2-3 รายที่กำลังเจรจาธุรกิจอยู่ โดย Gateway ที่เรารับบริการกับ OneWeb ตั้งอยู่ที่สถานีดาวเทียมสิรินธร เรามีจานดาวเทียม Gateway ภาคพื้นดินอยู่ทั้งหมด 14 จาน โดย 12 จานจะทำหน้าที่รับสัญญาณดาวเทียม LEO ให้ต่อเนื่องกัน และเมื่อมีจานใดจานหนึ่งเกิดปัญหา จะมีอีก 2 จานทำหน้าที่ Redundant เพื่อให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Q: ทิศทางธุรกิจสื่อสารดาวเทียมของ NT ในอนาคต
NT มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และดาวเทียม ในปัจจุบัน NT ได้ประมูลวงโคจรตำแหน่ง 126E มาได้ ซึ่งเป็นดาวเทียม GEO โดยจะต้องมีการผลิตดาวเทียมตามความต้องการของลูกค้าซึ่งอยู่ในขั้นดำเนินการ นอกจากนี้ NT ยังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจอวกาศด้วย (Space Economy) ซึ่ง NT มีศักยภาพพร้อมและมีวัตถุประสงค์ที่จะทำ Ground Segment as a Services (GSaaS) ด้วยในอนาคต จึงทำให้บริการสื่อสารดาวเทียมเป็นบริการที่มีประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ให้กับ NT อย่างยั่งยืนต่อไป