ทีม GEO Warriors มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คว้ารางวัลชนะเลิศ
SpaceQuest 2024 : Launching Thailand Space Innovation & Business
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (IAAI) จัดการประกวดแนวคิดนวัตกรรมและความเป็นไปได้ทางธุรกิจด้านเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ SpaceQuest 2024 : Launching Thailand Space Innovation & Business ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ (New Space Economy) ของประเทศไทย” ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีแรก โดย ทีม GEO Warriors จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สร้างสรรค์ผลงานการประเมินการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของป่าชายเลน คว้ารางวัลชนะเลิศพร้อมทุนการศึกษา 50,000 บาท
คุณธเนศ เฉลิมวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มปฏิบัติการ สายงานดาวเทียมและโครงข่าย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นประธานมอบรางวัลในวันประกาศผลรางวัลชนะเลิศ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 กล่าวว่า “NT ในฐานะผู้นำในการให้บริการด้านระบบสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย ได้มุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้แก่ นิสิต นักศึกษา เยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของชาติอย่างต่อเนื่องตลอดมา จึงสนับสนุนการจัดโครงการประกวดแนวคิดนวัตกรรมและความเป็นไปได้ทางธุรกิจ SpaceQuest 2024 : Launching Thailand Space Innovation & Business ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีแรก ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ (New Space Economy) ของประเทศไทย” เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติในการพัฒนาประเทศ เป็นการสื่อสารโดยตรงไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมการทำงานจริงในอนาคตอันใกล้”
สำหรับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในโครงการนี้มีทั้งหมด 5 ท่าน ประกอบด้วย ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA), ผศ.ดร.วุฒิชัย บุญพุก อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี PIM หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งทีม KEETA, รศ.ดร.วรุธ ปานนักฆ้อง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและระบบโลจิสติกส์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย (Startup Thailand) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA)
ทีม GEO Warriors มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมทุนการศึกษา 50,000 บาท สร้างสรรค์แนวคิดนวัตกรรมเกี่ยวกับการประเมินการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของป่าชายเลนโดยใช้เทคโนโลยีอวกาศ
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ อับดับ 1 พร้อมทุนการศึกษา 30,000 บาท คือ ทีม LittleMAX ของนักศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ในแนวคิดโปรตีนบาร์จากต้นอ่อนทานตะวันสำหรับนักบินอวกาศ ในขณะที่ทีม KMUTT Nano-Sat Propulsion Team (KSPT) จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อับดับ 2 พร้อมทุนการศึกษา 20,000 บาท จากผลงาน Rocketeer นำเสนอแนวคิดเรื่องการติดตั้งระบบขับเคลื่อนประเภทแรงขับสูงให้กับดาวเทียม CubeSat เพื่อลดระยะเวลาในการเข้าสู่วงโคจร
ทั้งนี้ โครงการ SpaceQuest 2024 : Launching Thailand Space Innovation & Business ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีทีมที่สมัครและส่งผลงานเข้าประกวดรอบแรกทั้งหมด 25 ทีม จากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ก่อนที่คณะกรรมการจะคัดเลือกเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม Workshop with Mentor ไปเมื่อวันที่ 8 – 9 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา พร้อมได้รับทุนการศึกษา ทีมละ 15,000 บาท สำหรับสนับสนุนการผลิตผลงานในรอบชิงชนะเลิศ (Pitching Day)