‘แก้ม’ ณัฐณิชา โทนสูงเนิน จากนักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร สู่วิศวกรดาวเทียมหญิง
ณัฐณิชา โทนสูงเนิน หรือ “แก้ม” วิศวกรสาวจาก บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ผู้ทำงานในแผนกระบบดาวเทียมมาเป็นเวลา 3 ปี เล่าถึงเส้นทางอาชีพที่น่าสนใจของเธอ จากนักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่การเป็นวิศวกรในวงการดาวเทียม
“ฉันจบวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ค่ะ” แก้มเริ่มต้นเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเธอ “ตอนเรียนจบ ก็คิดว่าอยากทำงานตรงสาย แต่ไม่มีในใจว่าจะเป็นสายไหน ไม่ว่าจะเป็นไฟเบอร์ออปติก เน็ตเวิร์ค หรือดาวเทียม แต่ตอนเรียนปริญญาตรีฉันแทบไม่ได้สัมผัสกับเรื่องดาวเทียมเลย มันเป็นแค่วิชาเลือกที่ไม่ได้ลงเรียนด้วยซ้ำ”
แต่โชคชะตาก็พาเธอมาพบกับโอกาสที่ CAT Telecom ตอนนั้นยังเป็นสมัย CAT อยู่ “ตอนแรกฉันสมัครเข้าไปในตำแหน่งอื่น แต่พอดีแผนกระบบดาวเทียมเขาว่าง ก็เลยได้มาลองทำดู” แม้จะไม่มีพื้นฐานด้านดาวเทียมมาก่อน แต่โอกาสก็เปิดให้แก้มได้เข้ามาทำงานในแผนกนี้ “ตอนแรกก็คิดหนักอยู่นะ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสโคปงานที่ค่อนข้างแคบ แต่พอได้ลองทำจริงๆ ก็รู้สึกสนุกมาก” เธอเล่าพร้อมรอยยิ้ม
งานของแก้มมีความหลากหลายและท้าทาย ตั้งแต่การออกไปถ่ายทอดสดด้วยรถ DSNG ไปจนถึงการทำโครงการดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) อย่าง OneWeb “ได้ออกไปทำงานนอกสถานที่บ่อย ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะมาก” เธอกล่าวด้วยความกระตือรือร้น
แก้มเล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกที่ได้ออกไปทำงานกับรถถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียม (DSNG) “ตื่นเต้นมากค่ะ ตื่นเต้นตั้งแต่ขั้นตอนเอาเท้าช้างลงเลย ในรถมีอุปกรณ์เยอะมาก เราก็ต้องเข้าใจระบบทั้งหมดก่อน ระบบในรถแต่ละคันก็ไม่เหมือนกันด้วย รายละเอียดก็เยอะแหละ แต่พี่ๆ เขาเก่ง ก็ต้องค่อยๆ สังเกตุ มันมีรายละเอียดเยอะนะ” เพราะเป็นงานถ่ายทอดสด ก็เลยพลาดไม่ได้ ทุกขั้นตอนเลยสำคัญและละเอียดอ่อน ตอนแรกแก้มก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องไปสแตนบายรอนานอะไรขนาดนั้นตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน
เมื่อถามถึงการเป็นผู้หญิงในสายงานที่มักจะมีผู้ชายเป็นส่วนใหญ่นั้น แก้มมองว่าไม่ใช่อุปสรรค “ถ้าเราไม่รู้อะไร ก็ถามไปเลย เพราะงานเทคนิคแบบนี้จะมามั่วไม่ได้ มันส่งผลกระทบเยอะ”
เมื่อถามถึงอนาคตของเทคโนโลยีดาวเทียม แก้มมองว่า “ทุกเทคโนโลยีมันจะมีการพัฒนาของมันให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ จากเดิมดาวเทียมก็เหมือนเป็นระบบสุดท้ายที่เอาไว้ Backup ทุกอย่าง เวลาที่ไม่มีอะไรใช้ได้ หรือมีแค่ GEO แต่ตอนนี้มี LEO แล้ว ก็เลยรู้สึกว่าดาวเทียมจะเริ่มกลับมาบูมอีกครั้ง และต่อไปก็อาจจะมีอะไรที่ดีกว่านี้อีก”
ประสบการณ์การทำงานทำให้แก้มได้พัฒนาตัวเองอย่างมาก “พอมาทำงานจริง เราก็รู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง บางอย่างที่คิดว่าทำไม่ได้ ก็ทำได้ ทั้งการทำงานและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า”
แก้มเล่าถึงประสบการณ์ที่ประทับใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เธอต้องตัดสินใจสำคัญในระหว่างการทดสอบระบบสำหรับงาน APEC “ตอนนั้นไม่มีหัวหน้าอยู่ และต้องตัดสินใจเองว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร” เธอกล่าว “ฉันตัดสินใจยุติการทดสอบกับลูกค้ารายหนึ่งและให้รายต่อไปเริ่มทดสอบ มันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และรู้สึกว่าเมื่อเราตัดสินใจแล้ว เราก็สามารถดำเนินงานต่อไปได้” ประสบการณ์นี้สอนให้แก้มเรียนรู้ว่าการกล้าตัดสินใจเป็นทักษะสำคัญสำหรับวิศวกร “ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เราก็ต้องจัดการกับมันต่อไป” เธอกล่าว
แก้มยังได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานกับลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งมีความท้าทายแตกต่างจากการทำงานกับคนในประเทศไทย “ลูกค้าต่างประเทศมีความคาดหวังสูงมาก และทำงานตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด” เธออธิบาย “เราต้องคิดล่วงหน้าและเตรียมพร้อมสำหรับคำถามที่ละเอียดมาก” ครั้งแรกที่ต้องเผชิญกับคำถามที่ไม่คาดคิด “ฉันรู้สึกกดดันมาก แต่ก็ต้องตอบไปตามตรงว่าจะกลับไปหาคำตอบให้” แก้มกล่าว “หลังจากนั้น ฉันก็ต้องบังคับตัวเองให้เตรียมตัวให้ดีขึ้นสำหรับการประชุมครั้งต่อไป”
เมื่อถูกถามถึงคำแนะนำสำหรับวิศวกรรุ่นใหม่ แก้มแนะนำให้เริ่มจากการเรียนรู้ด้านเทคนิคก่อน “เริ่มจากพื้นฐาน แล้วค่อยๆ สะสมประสบการณ์ เหมือนการต่อจิ๊กซอว์ทีละชิ้น” เธอกล่าว “เมื่อเราเข้าใจพื้นฐาน เราจะเห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น”
นอกจากนี้ เธอยังแบ่งปันคติประจำใจที่ใช้ในการทำงาน “Take a risk or lose the chance” โดยอธิบายว่า “บางครั้งเราต้องกล้าเสี่ยง แต่ต้องเป็นความเสี่ยงที่มีเหตุผลและคำนึงถึงผลที่จะตามมา”
แก้มเน้นย้ำถึงความสำคัญของ Soft Skills ในการทำงาน ไม่ใช่แค่เก่งอย่างเดียว ต้องเข้ากับคนเป็นด้วย การมีทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกับคนอื่นก็สำคัญไม่แพ้กัน “บางทีเราอาจจะไม่ได้เก่งที่สุดในเรื่องเทคนิค แต่ถ้าเรารู้จักจุดแข็งของตัวเอง แล้วก็ทำส่วนนั้นให้ดีที่สุด งานก็จะออกมาดีแน่นอน”
Take a risk or lose the chance
“บางครั้งเราต้องกล้าเสี่ยง
แต่ต้องเป็นความเสี่ยงที่มีเหตุผล
และคำนึงถึงผลที่จะตามมา”
‘แก้ม’ ณัฐณิชา โทนสูงเนิน
สุดท้าย แก้มทิ้งท้ายด้วยมุมมองที่น่าสนใจ “ในการทำงาน ทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญ แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่ต้องมีทุกคนงานถึงจะสำเร็จได้” เรื่องราวของแก้มเป็นแรงบันดาลใจให้เห็นว่า ด้วยความมุ่งมั่นและใจรักการเรียนรู้ ใครก็สามารถก้าวเข้าสู่โลกของเทคโนโลยีอวกาศได้ แม้จะไม่ได้มีพื้นฐานโดยตรงมาก่อน เธอเป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ผู้หญิงสามารถประสบความสำเร็จในสายงานวิศวกรรมที่ท้าทายได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้ทางเทคนิคเท่านั้น แต่ยังต้องมีทักษะการตัดสินใจ การปรับตัว และการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อประสบความสำเร็จในอาชีพนี้