CEO NT ร่วมเสวนา APSCC 2024 ขับเคลื่อนระบบนิเวศอวกาศไทยสู่ผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ได้เข้าร่วมเวทีเสวนา Panel Discussion ภายในงาน APSCC 2024 Satellite Conference & Exhibition ณ โรงแรม Chatrium Grand Bangkok ภายใต้หัวข้อ “Thai Space Sector Players: How to Drive the Space Ecosystem in Thailand” โดยมุ่งเน้นแนวทางในการขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านอวกาศของประเทศไทยให้เติบโตในเวทีโลก

อุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยแรงผลักดันจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยี การลงทุนจากภาคเอกชน และความสนใจที่เพิ่มขึ้นในการสำรวจอวกาศ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอวกาศทั่วโลกอาจมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2040 โดยมีแหล่งรายได้จากการพัฒนากลุ่มดาวเทียม การสำรวจโลกและอวกาศ ตลอดจนการท่องเที่ยวอวกาศเป็นหัวใจสำคัญ

สำหรับประเทศไทย แม้เศรษฐกิจอวกาศยังถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหน้าใหม่ แต่ NT มองเห็นศักยภาพมหาศาลในการสร้างคุณประโยชน์ทั้งด้านการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การกระตุ้นเศรษฐกิจ และการสร้างงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะผลักดันไทยสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอวกาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน (Satellite Earth Station) โดยมีสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สถานีดาวเทียมศรีราชา สถานีดาวเทียมสิรินธร และสถานีดาวเทียมนนทบุรี ตลอดจนโครงข่ายภาคพื้นดินภายในประเทศและโครข่ายระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมภาคพื้นดินที่มีอยู่เดิมเพื่อรองรับบริการด้าน Ground Segment ได้ นับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมให้เกิดประโยชน์สูงสุดและช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างรูปแบบการให้บริการแบบ Total Solutions ที่ครอบคลุมทั้ง Space to Ground และ Ground to Space อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย
