NT ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม APSCO/UOS/AUSS International Symposium 2024

เมื่อวันที่ 5 – 7 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ภายใต้สายงานดาวเทียมและโครงข่าย ได้ส่งผู้แทนจากฝ่ายปฏิบัติการและธุรกิจดาวเทียม โดย ดร.พีระศักดิ์ วังโสม เจ้าหน้าที่ประสานงานคลื่นความถี่ดาวเทียม เข้าร่วมการประชุม APSCO/UOS/AUSS International Symposium 2024 ณ สถาบัน Sharjah Academy for Astronomy, Space Science and Technology (SAASST) มหาวิทยาลัยชาร์จาห์ เมืองชาร์จาห์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีระดับนานาชาติที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของประเทศสมาชิก นำเสนอนโยบาย งานวิจัย และบทความในมิติของธุรกิจและการสื่อสารด้านอวกาศ โดย ดร.พีระศักดิ์ วังโสม ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานเลขาธิการองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Space Cooperation Organization: APSCO) ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยนำเสนอบทความในการประชุมภายใต้หัวข้อ Development in Space Communications-The Regional Balance and Challenges เรื่อง “Collaborative Strategies Between LEO Satellite Operators and National Providers” ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของการสร้างกลยุทธ์ความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) กับผู้ให้บริการระดับประเทศ

นอกเหนือจากการประชุมแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้รับโอกาสเข้าร่วมการอบรมระยะสั้นในหลักสูตร Frequency and Orbit Element in Satellite Design (ITU Regulations and International Standards) ระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการ APSCO เพื่อเสริมความรู้เกี่ยวกับการออกแบบดาวเทียมตามมาตรฐานสากลและข้อกำหนดของ ITU การประชุม APSCO/UOS/AUSS International Symposium 2024 ครั้งนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารดาวเทียมของประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของประเทศสมาชิกได้ร่วมนำเสนอนโยบาย งานวิจัย บทความ และมุมมองทางธุรกิจด้านอวกาศ การเข้าร่วมงานประชุมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารดาวเทียม ซึ่งสอดคล้องกับแผนดำเนินธุรกิจดาวเทียมของ NT นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างการรับรู้แบรนด์ NT พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายพันธมิตรในอุตสาหกรรม สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ NT Satellite Solutions เพื่อวางแผนบริการสื่อสารดาวเทียมที่สามารถสร้างโอกาสความเป็นไปได้ทางธุรกิจในอนาคตอันใกล้






