New Space Economy: เมื่ออวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว
คุณอาจจะคิดว่าประเทศไทยกำลังจะส่งนักบินอวกาศไปนอกโลกเหมือนสหรัฐหรือเปล่า ในอนาคตอาจจะเกิดขึ้นก็เป็นได้ แต่ในมุมมองปัจจุบัน คำว่า Space Economy คือระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ในอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจ วิจัย การบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่นอกโลก รวมไปถึงการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์บนโลกในการพัฒนาการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ การสำรวจทรัพยากร การพัฒนาต่อยอดไปยังธุรกิจอย่างการท่องเที่ยวในอวกาศ เมื่อมนุษย์เกี่ยวข้องกับอวกาศมากขึ้น ปัจจัยในการดำรงชีวิตในอวกาศก็ยิ่งสำคัญ

อุตสาหกรรมอวกาศประกอบด้วยธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำ (Upstream and Downstream) โดยธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและองค์ความรู้เทคโนโลยีอวกาศ เช่น การวางแผนผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม สถานีควบคุมภาคพื้นดิน การผลิตแท่นปล่อยจวดและดาวเทียม เป็นต้น ส่วนในด้านธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีอวกาศ มีความใกล้ชิดกับผู้คนมากที่สุด เช่น บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม การถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียม ระบบแผนที่นำทางในแอปพลิเคชันต่างๆ ระบบตรวจสอบสภาพอากาศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy มีขอบเขตที่กว้างกว่าอุตสาหกรรมอวกาศ ต้องใช้ความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนา การใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับอวกาศในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการใช้โครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ เช่น สถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน (Satellite Earth Stations) การส่งจรวดและดาวเทียม ระบบสำรวจทรัพยากร เทคโนโลยีด้านอาหารอวกาศ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อขยายขอบเขตไปสู่ธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยวในอวกาศ ฯลฯ
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับ New Space Economy หรือเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่มากขึ้น โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าอุตสาหกรรมอวกาศอาจจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์เหรียญสหรัฐ ในปี 2040 ส่งผลให้ NT เล็งเห็นถึงความสำคัญของ New Space Economy ในการรองรับการเติบโตของการเป็นส่วนหนึ่งในเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ เพราะ NT มีประสบการณ์ในด้านการสื่อสารผ่านระบบดาวเทียมมามากกว่า 50 ปี ทั้งนี้ยังมีสถานีภาคพื้นดินทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีดาวเทียมศรีราชา สถานีดาวเทียมนนทบุรี และสถานีดาวเทียมสิรินธร รวมถึงรถถ่ายทอดโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (DSNG) พร้อมด้วยทีมงานที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ สำหรับรองรับเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ที่เป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจของ NT เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยผ่านเทคโนโลยีอวกาศ ในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยอาจเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจอวกาศได้เช่นกัน