TALK: NT Ground to Space โดย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

TALK: NT Ground to Space โดย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

คุณสรรพชัยย์ หุวะนันทน์
กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

NT Ground to Space: Ready to Space Economy

Q: ธุรกิจอวกาศจำเป็นต้องอยู่บนอวกาศเท่านั้นหรือไม่
จริงๆ แล้วมีหลายพาร์ท ในอวกาศเป็นเรื่องของดาวเทียมค้างฟ้าที่สื่อสารจากดาวเทียมแบบ Satellite to Ground ในส่วนของภาคพื้นดิน (Ground) ก็จะเป็นการสื่อสารไปยังผู้ใช้งานทั่วไป สิ่งที่น่าสนใจคือทุกๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอวกาศสามารถสร้างคุณค่า และสร้างงานได้ทั้งหมด ซึ่ง NT มีความสนใจและเข้าใจว่าธุรกิจ Value Chain ในส่วนไหนของธุรกิจอวกาศที่ NT สามารถได้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ และ NT สามารถทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ในด้านความมั่นคงและการสื่อสารที่ทั่วถึง ในทุกส่วนของการสื่อสารจะมีธุรกิจมากมายเกิดขึ้นมา ในอนาคตถ้าดาวเทียมสามารถ Coverage ได้ทั่วถึง อาจจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตที่เราไม่เคยเห็นก็เป็นได้

Q: ธุรกิจอวกาศสามารถตอบโจทย์ภาครัฐและภาคเอกชนอย่างไร
เดิม NT ให้บริการทางด้าน Infrastructure และมีประสบการณ์ทางด้านดาวเทียมกว่า 50 ปี ปัจจุบัน NT ได้พัฒนาการให้บริการเพิ่มมากขึ้นในด้านระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม ไม่ได้ให้บริการเพียงแค่ถ่ายทอดสด (Broadcast) เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการรับ-ส่งสัญญาณ (Uplink/Downlink) การควบคุมสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน (Gateway) ในหลักการคือ ดาวเทียมเวลามีการส่งข้อมูลไป-กลับ จะมีการส่งข้อมูลมาที่สถานีภาคพื้นดินและกระจายข้อมูลผ่านโครงสร้างพื้นฐานไปยังประชาชนทั่วไปใช้งาน ซึ่ง NT มีความพร้อมอย่างมากด้านโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจดาวเทียม ทำให้สามารถต่อยอดธุรกิจในการให้บริการแบบ End to End Service ได้อย่างง่ายดาย

Q: LEO คืออะไร มีประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างไร
ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) เป็นแนวทางใหม่ของการสื่อสารด้านดาวเทียม ข้อดีคือเป็นการสื่อสารที่ใกล้กันระหว่างพื้นดินและอวกาศ ทำให้ Latency รวดเร็วมากขึ้น ส่วนข้อจำกัดคือการที่ดาวเทียมอยู่ใกล้โลกมากๆ ทำให้ Coverage ไม่ทั่วถึง จึงทำให้ต้องมีดาวเทียมหลายๆ จุด รวมกันเป็นเครือข่าย เพื่อให้ครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งต่างจากดาวเทียม High Throughput Satellites (HTS) ที่เป็น GEO ดาวเทียมเพียง 3 ดวง ก็สามารถครอบคลุมได้ทั่วโลก โดยประเทศไทยคงไม่สามารถไปลงทุนทำเครือข่าย LEO แต่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจของ LEO ได้ ข้อดีของเทคโนโลยี LEO ในปัจจุบัน คือความเร็วการใช้งานไม่แตกต่างจากใช้งานผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่โครงข่ายไฟเบอร์ออปติกเข้าไปไม่ถึงหรืออาจต้องใช้ต้นทุนสูงมาก การหันไปใช้เทคโนโลยี LEO ทดแทนยังมีช่องว่างสำหรับการทำธุรกิจอีกมากมาย อย่างเช่นประเทศไทยที่มีพื้นที่ตามขอบชายแดน พื้นที่ตามเกาะต่างๆ เป็นต้น ซึ่ง NT เป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการดาวเทียม LEO หลากหลายรายที่กำลังเจรจาถึงช่องทางในการทำธุรกิจในประเทศไทย โดยการเป็น Gateway ที่จะกระจายการสื่อสารไปทั่ว CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยอย่างเดียว

Q: ทิศทางธุรกิจดาวเทียมของ NT
NT เองก็อยากเป็นผู้ให้บริการแบบ End to End Service คณะกรรมการอวกาศได้มีมติให้ NT ต้องสามารถทำธุรกิจดาวเทียมโดยมีดาวเทียมเป็นของตนเองเพื่อให้บริการเป็นดาวเทียมแห่งชาติภาครัฐ รองรับธุรกิจแบบ Total Solutions โดย NT เริ่มต้นจากเป็นธุรกิจ Satellite Broadcast จนถึงปัจจุบันได้รับสิทธิในการบริหารจัดการสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ทำให้ทีมงานมีความรู้ในด้านของ Operation และการควบคุมดาวเทียม ประกอบกับการประมูลคลื่นวงโคจร 126E ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาและตัดสินใจที่จะลงทุน หากดำเนินการได้สำเร็จ NT ก็จะมีดาวเทียมเป็นของตนเอง เพื่อให้บริการแก่พี่น้องประชาชนชาวไทย รวมถึงพื้นที่ห่างไกล ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ทางตะวันออก อย่างประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี ส่งผลให้มีแนวทางในการเจรจาธุรกิจ ทำให้ NT สามารถเพิ่มรายได้ในธุรกิจดาวเทียมได้

Messege us : NT Satellite